วันศุกร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

โมซาร์ท (mozard)

โมซาร์ท (Mozard) โมซาร์ท (Mozard) อัจฉริยะดนตรีผู้สร้างดนตรีล้ำค่าไว้เป็นมรดกโลก ประวัติความเป็นมา โวล์ฟกัง อะมาเดอุส โมซาร์ท Wolfgang Amadeus Mozart คีตกวีเอกของโลกจาก ซอลสบวร์ก Salzburg มรดกสำคัญที่โมซาร์ททิ้งไว้ให้เพื่อนร่วมโลกจนถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ คือ งานประพันธ์ดนตรีจำนวนมหาศาลของเขาที่มีความไพเราะและงดงามเป็นสิ่งจรรโลงใจข้ามชาติ ภาษา วัฒนธรรม ที่เข้าถึงคนทั่วโลกได้ งานดนตรีของเขาในรูปแบบต่างๆก็ยังมีการบรรเลงทั้งในรูปแบบดั้งเดิม หรือ ถูกนำมาดัดแปลงให้เข้ากับสมัยนิยมอยู่เสมอๆ เรียกว่าฟังเมื่อไรก็เพราะเมื่อนั้น โมซาร์ทเกิดในตระกูลนักดนตรีคือพ่อชื่อ เลโอโปลด์ ซึ่งเป็นนักไวโอลินในราชสำนักของเจ้าผู้ครองซอลสบวร์ก วันเกิดของโมซาร์ทคือ 27 มกราคม ค.ศ. 1756 หรือ พ.ศ. 2299 ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยพ่อของโมซาร์ทเป็นคนที่เห็นแววอัจฉริยะของลูกชาย ตั้งแต่ 2 -3 ขวบ ที่เขาจับเครื่องดนตรีมาเล่นดนตรีที่ได้ยินทำนองเพียงครั้งเดียวอย่างคล่องแคล่วไม่ผิดเพี้ยน แถมยังเล่นทำนองที่ว่ากลับหน้ากลับหลัง หลับตาเล่นเปียโน ตรงนี้ทำให้เลโอโปลด์คิดการใหญ่คือ นำโมซาร์ทกับพี่สาวที่ยังเด็กเช่นกัน ออกตระเวณแสดงความอัศจรรย์ตามราชสำนักทั่วยุโรป และ เป็นที่ฮือฮากันไปทั่ว ประตูราชวังของ พระจักรพรรดิในยุโรปยุคนั้นเปิดกว้างต้อนรับการแสดงของครอบครัวโมซาร์ท เด็กน้อยโวล์ฟกังคือดาราของคณะครอบครัวโมซาร์ท เมื่อโมซาร์ทเริ่มโตขึ้น อัจฉริยะก็ฉายแววจากการสังเคราะห์ความจำให้กลายเป็นบทเพลงที่ตัวเองสร้างขึ้นเอง โดยเขาเริ่มแต่งงานเพลงชิ้นแรกเมื่ออายุ 6 ขวบ เป็นเพลงเต้นรำแบบมินูเอทที่ไม่ยาวนัก จากนั้นโมซาร์ทไม่เคยหยุดแต่งเพลงเลยจนตายในอีก 29 ปีต่อมา จุดที่น่าสนใจคือ โมซาร์ทเองแม้จะไม่เคยเรียนดนตรีกับใครอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แต่เขาก็ไม่ได้ปฎิเสธการเรียนรู้หรือขอคำชี้แนะจากครูอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น พ่อของตัวเอง หรือ โจฮัน คริสเตียน บาค คีตกวีผู้มีชื่อก้องยุคนั้น หรือ ปาเดร มาร์ตินี นักบวชอิตาลี ผู้เป็นบรมครูด้านการประพันธ์ดนตรีของยุโรปยุคนั้น หรือ โจเซฟ ไฮเดิ้น นอกจากนั้น ในวัยเด็กจนถึง 16 ปี โมซาร์ทเดินทางไม่หยุดเพื่อตระเวณออกแสดง ตรงนี้ทำให้โมซาร์ทได้ยินแนวดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งเขานำมาปรับและประยุกต์ใช้ในงานประพันธ์ดนตรีของเขาในช่วงต่อๆมา โมซาร์ทเองก็เคยพูดว่า แม้เขาจะมีพรสวรรค์ในเรื่องได้ยินทำนองที่ไพเราะจำง่ายติดหู จนทำให้เพลงที่ประพันธ์มีเสน่ห์น่าฟัง แต่ไม่ใช่ว่าผลงานที่ออกแสดงจะออกมาง่ายๆ โมซาร์ททำงานหนักมากที่จะทำให้ดนตรีของเขาออกมาดีและงดงามตามที่ตั้งใจไว้ ชะตาเริ่มเล่นตลกกับโมซาร์ทเมื่อเขาเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ ถึงแม้ว่าเขาจะมีฝีมือในการแต่งดนตรี แต่นักประพันธ์เพลงคนอื่นก็มีเหมือนกัน โมซาร์ทเองก็ต้องฝ่าฟันเพื่อทำให้ผลงานของตัวเองเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ซึ่งจุดขายเรื่องการเป็นเด็กอัจฉริยะนั้นก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ปัญหาอีกอย่างที่โมซาร์ทไม่ชอบคือ บ้านเกิด เพราะหลังจากออกตระเวณแสดงทั่วยุโรป เขาก็ต้องตามพ่อกลับมาประจำสำนักเจ้าผู้ครองซอลสบวร์ก ที่ทำให้เขาอึดอัด เพราะเหมือนจับพญามังกรมาขังในคลองน้อยเสียแล้ว อีกอย่างท่านเจ้าผู้ครองนครนั้นเป็นพระจึงไม่ชอบให้โมซาร์ทแต่งเพลงอะไรอื่นนอกจากเพลงศาสนา ภาวการณ์แบบบนี้ทำให้โมซาร์ทหงุดหงิดมากขึ้นเพราะพลังการสร้างสรรค์ของเขากำลังถูกปิดกั้น และ เขารู้สึกว่าตัวเองกำลังเฉาตาย ในปี 1781 เขาจึงตัดสินใจครั้งสำคัญที่ถือว่ากล้าหาญมากในยุคนั้น คือ การขอลาออกจากสังกัดของเจ้าผู้ครองนครเพื่อจะไปทำงานเป็นศิลปินอิสระเพื่อใช้ฝีมือดนตรีของตัวเองสร้างชื่อและฐานะในเวียนนา มหานครแห่งอารยธรรมของยุโรปตะวันตกยุคนั้น แต่ในยุคโมซาร์ทเรื่องแบบนี้มันไม่ง่าย เพราะศิลปินที่ไม่มีเจ้านายเลี้ยงก็ต้องลำบากมากในการหางาน และ ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เพราะเจ้านายทำหน้าที่เป็นรัฐสวัสดิการให้คนในสังกัด เพราะไม่เพียงดูแลตัวศิลปิน ยังดูแลถึงครอบครัวอีกด้วย นักเขียนประวัติโมซาร์ทบางคนถึงเปรียบการตัดสินใจของโมซาร์ทคราวนี้ว่า นี่แหละคือ การแสดงอหังการ์ของศิลปินครั้งแรกๆในโลกตะวันตกทีเดียว การตัดสินใจครั้งนี้แหละ ที่ทำให้โลกได้ประโยชน์เพราะโมซาร์ทต้องแต่งดนตรีหาเลี้ยงชีพ ซึ่งก็ต้องทำงานเพลงหลายๆแนวตามแต่ใครจะจ้าง ทำให้เขามีมรดกทางดนตรีเหลือไว้มากมาย งานต่างๆเหล่านี้มีทั้งอุปรากร, ซิมโฟนี่, คอนแชร์โต้ ( การเล่นเครื่องดนตรีเดี่ยวประชันกับวงดุริยางค์ ) , โซนาต้า ( ดนตรีบรรเลงชิ้นเดียว ) จำนวนมหาศาลที่ฟังทีไรก็มีความเพราะพริ้งเกินบรรยาย ที่คนฟังคุ้นหูก็คือ ทำนองเปิดของซิมโฟนีหมายเลข 40, ทำนองเปิดของงานประพันธ์สำหรับวงเครื่องสายชื่อ A little Night Music , บทเพลงโหมโรงจากอุปรากรเรื่อง “งานวิวาห์ของฟิกาโร” หรือ Marriage of Figaro เป็นต้น ที่น่าทึ่งคือช่วงที่โมซาร์ทผลิตงานชั้นเอกเหล่านี้ เป็นช่วง 10 ปีสุดท้ายของชีวิต ซึ่งเขาไม่ได้มีชีวิตที่ราบรื่น เพราะไหนจะต้องคิดเสนองานใหม่ออกสู่ตลาดเพราะไม่มีสังกัด ไหนจะต้องหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งก็ไม่ค่อยราบรื่นนักเพราะว่าโมซาร์ทใช้เงินเก่งทีเดียว โมซาร์ทเสียชีวิตเมื่ออายุ 35 ปี ที่เวียนนาจากสาเหตุที่ยังสันนิษฐานกันอยู่ว่ามาจากอะไรแน่ และ เขายังทำงานจนนาทีสุดท้าย คือ การแต่งเพลงสวดงานศพ แต่ทำไม่จบ งานของโมซาร์ทนั้นนักวิชาการด้านดนตรีบอกว่าเป็นแบบคลาสสิคบริสุทธิ์ คือ เสนอความงามของเสียงดนตรีที่เรียบเรียงอย่างดีเพื่อความจรรโลงใจของผู้ฟัง แต่จะไม่ก่อความสะเทือนอารมณ์ของคนฟังไม่ว่าจะเศร้าสลด หรือ หวานหยดย้อย สิ่งที่ทำให้ดนตรีโมซาร์ทโดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมสมัยและผลงานของเขาเป็นอมตะอยู่จนทุกวันนี้คือ ความง่ายแต่งามของงานดนตรีที่ไม่ใช่ว่าใครจะทำได้ง่ายๆ ซึ่งว่ากันว่าจะทำให้งานของเขามีคนฟังต่อไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือมนุษย์อีกต่อไป ------------------------------------------------ Credit รูปภาพ จาก http://th.wikipedia.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น