เห็นภาพความมีระเบียบวินัยของชาวญี่ปุ่นแล้วอดทึ่งไม่ได้ เพราะเราแทบไม่เคยเห็นภาพการยื้อแย่งแซงคิวเกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเลย แม้แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมื่อปี 2554 ยังปรากฏภาพชาวญี่ปุ่นเข้าแถวรอรับความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัย และยังเข้าคิวต่อแถวซื้อสินค้าอย่างเป็นระเบียบ เป็นภาพน่าประทับใจที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลายคนอดตั้งคำถามอยู่ในใจไม่ได้ว่า เหตุใดชาวญี่ปุ่นจึงเข้าคิวอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อยขนาดนี้ แม้ตกอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญความยากลำบาก ฮารา ชินทาโร่ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ ผ่านการโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก Hara Shintaro เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 ก่อนที่ข้อเขียนดังกล่าวจะถูกแชร์ต่อกันในโลกไซเบอร์ ดังนี้
"ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าแถว (ไม่แซงคิว)
ผมเองก็ไม่ทราบครับ ว่า ทำไมคนญี่ปุ่นเข้าคิวทุกครั้ง และแทบจะไม่มีใครกล้าแซงคิว มันเป็นหัวข้อที่น่าสนใจสำหรับงานวิจัยด้วย
สาเหตุหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มันเป็นวัฒนธรรมในสังคมญี่ปุ่น ถูกสอนตั้งแต่สมัยอนุบาลศึกษา ทั้งพ่อแม่ ทั้งครู และทั้งบรรดาผู้ใหญ่จะดุเด็ก ๆ ที่แซงคิวหรือไม่เข้าคิว ดังนั้น ตั้งแต่สมัยเด็ก เราก็เข้าใจว่า การแซงคิวนั้นเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ที่นี่ขอสังเกตว่า นี่ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับดีหรือไม่ดีครับ แต่อยู่ที่ว่า ทำได้หรือทำไม่ได้ เนื่องจากว่าทุกครั้งพยายามจะแซงคิว เด็ก ๆ จะโดนผู้ใหญ่ดุ และไม่มีผู้ใหญ่ที่แซงคิว ทำให้เด็กรู้ว่า ฉันก็ทำไม่ได้
อีกอย่าง คนที่แซงคิวถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า เพราะคนนั้นเป็นคนที่เห็นแก่ตัว ไม่เกรงใจคนอื่น และทำให้คนอื่นรอนานเพราะความเห็นแก่ตัวของตนเอง ในที่นี่ ขอสังเกตว่า ชาวญี่ปุ่นเน้นความตรงต่อเวลามาก (ไม่ได้หมายความว่าทุกคนเป็นแบบนั้น แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น) ดังนั้น การแซงคิวหมายความว่า คนที่แซงนั้นไม่ให้เกียรติต่อเวลาของคนอื่น เมื่อคนใดคนหนึ่งไม่เห็นคุณค่าในเวลาของคนอื่น คนนั้นก็ถูกมองว่าคนที่ไร้คุณค่า อีกนัยหนึ่ง เราก็กลัวว่า ถ้าเราแซงคิว เราจะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีคุณค่า ดังนั้นเราก็ไม่ทำ
อีกสาเหตุหนึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับสิทธิและความเท่าเทียมกัน แม้ว่าคนที่อยู่ข้างหน้าของแถวนั้นเป็นคนใดก็ตาม เราก็รู้สึกว่า เขามีสิทธิมากกว่าเรา แม้ว่าเราจะมีอำนาจสูงกว่า มีเงินมากกว่า มีการศึกษาสูงกว่า ตำแหน่งที่สูงกว่าก็ตาม ในแถวนั้น คนที่มีสิทธิมากที่สุดก็คือคนที่มาเร็วที่สุด คนนั้นเป็นใคร ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
สังคมเราก็ยังเชื่อว่า การเข้าคิวนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะถ้าไม่มีคิว คนที่ได้เปรียบที่สุดก็คือ คนที่ไม่รู้จักคำว่า "อาย" เราก็ไม่อยากจะให้สังคมของเราเป็นสังคมที่คนที่ไม่รู้จักคำว่า "อาย" ได้เปรียบ ทุกคนก็ยอมรับที่จะเข้าแถว แม้ว่าแถวนั้นจะยาวเป็นหลายกิโลก็ตาม
ในสังคมบางสังคม (ขอโทษด้วยนะครับ รวมถึงสังคมไทย) ในขณะที่เราเข้าแถว ผู้ใหญ่มาถึงที่นั้น มักจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่และบอกว่า "เชิญทางนี้นะค่ะ/ครับ" หลังจากนั้นก็จะให้บริการแก่ท่านผู้ใหญ่คนนั้นก่อนคนที่เข้าแถวเป็นเวลานาน ถ้าในประเทศญี่ปุ่น อาจจะมีคนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่ (แม้ว่าหายาก) แต่คนที่ต้อนรับท่านผู้ใหญ่นั้นก็ต้องบอกว่า "ขอบคุณครับท่าน ขอโทษนะครับ วันนี้ คิวมันจะยาวหน่อยครับ
โดยส่วนตัว ผมคิดว่า ความเจริญของสังคมไม่ได้อยู่ในวัตถุอย่างเดียว แต่เราถือว่า สังคมใดสังคมหนึ่งพัฒนามาแล้ว ในเมื่อคนที่ปฏิบัติตัวตามกฎระเบียบ ไม่เสียเปรียบ ในตรงกันข้าม ในสังคมใดสังคมหนึ่ง คนที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบยังได้เปรียบ สังคมนั้นถือว่ายังไม่เจริญ
ตอนนี้ อยู่ในจังหวะที่มีข่าวดีเกี่ยวกับญี่ปุ่นเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าประเทศญี่ปุ่นมีแต่สิ่งดี ๆ มีด้านมืดอีกมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีสิ่งดี ๆ บางอย่างจริง เท่าที่ผมสังเกต ความแตกต่างระหว่างสังคมไทยกับญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ที่สันดาน พันธุกรรม หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้หรือเปลี่ยนยาก แต่อยู่ที่การสะสมของข้อแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ มากกว่าครับ
หนึ่งในความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ คือ การให้เกียรติต่อสิทธิของผู้อื่น ถ้าเราให้เกียรติต่อสิทธิของคนอื่นมากกว่านี้ แค่นิดเดียว โดยให้ความเกรงใจต่อผู้อื่นและความเคารพต่อสิทธิของเขา สังคมก็คงจะดีขึ้นอย่างเหลือเชื่อครับ"
Cr.กระปุก.คอม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น